การศึกษาไทย

“อรุณี” ระบุ 7 ปี การศึกษาไทยภายใต้ประยุทธ์ทำเด็กไร้อนาคต

นางสาวอรุณี กาสยานนท์ รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ระบุว่า ขณะนี้ปัญหาการศึกษาของไทยอยู่ในภาวะที่ไม่ดีจากปัญหาสะสมหลายด้าน ทั้งกรณีผลการสำรวจทักษะความสามารถด้านการสื่อสารภาษาอังกฤษ ปี 2021 ของเด็กไทยที่รั้งท้ายตารางอยู่อันดับที่ 100 จากทั้งหมด 112 ประเทศ ซึ่งต่ำกว่าเวียดนาม เมียนมาและกัมพูชา

นอกจากนี้ยังมีเด็กอีกจำนวนมากเข้าไม่ถึงเครื่องมือการเรียนในช่วงโควิด-19 ขอรับบริจาคโทรศัพท์มือถือใช้แล้วจากหน่วยงานของภาครัฐที่เพิ่งอนุมัติจัดซื้อโทรศัพท์มือถือเครื่องใหม่อีกด้วย ทั้งหมดคือบางส่วนของปัญหาการศึกษาไทย ซึ่งเกิดจากโครงสร้างการศึกษาที่บิดเบี้ยว

ดังนั้นทุกฝ่ายควรใช้โอกาสนี้ ในการปรับแก้ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ โดยส่วนตัวมีข้อกังวลใน พ.ร.บ.ฉบับนี้เกี่ยวกับการมอบอำนาจให้คณะกรรมการนโยบายที่มากเกินไปหรือไม่ เพราะมีหัวหน้าส่วนราชการเป็นคณะกรรมการด้วย

หากส่วนราชการใดไม่ทำตามมติของคณะกรรมการนโยบาย ถือว่าหัวหน้าส่วนราชการจงใจไม่ปฏิบัติตามกฎหมายไปด้วยหรือไม่ ซึ่งอาจสร้างปัญหาในการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติงานในระดับพื้นที่ ทั้งในฝั่งของครู บุคลากรทางการศึกษา และผู้ปกครอง เป็นต้น

นางสาวอรุณี กาสยานนท์ รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย

โดยนางสาวอรุณี กล่าวอีกว่า ในฐานะที่ปรึกษาคณะกรรมการวิสามัญร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ จะร่วมส่งผ่านข้อเสนอให้มีการปรับหรือเพิ่มเนื้อหาให้ พ.ร.บ.ฉบับนี้ มีมิติและความเข้าใจต่อพลวัตทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองตามลักษณะเฉพาะของพื้นที่การศึกษา มากกว่าการมุ่งเน้นการบริการจัดการด้วยตัวชี้วัดและประเมินผล

ควรกำหนดเป้าหมายประเทศ จะเน้นพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้านใดบ้างเพื่อตอบรับโลกก้าวกระโดด พร้อมกับกำจัดความเชื่อว่ารัฐราชการมีศักยภาพมากสุด ต้องรีบแก้ไขก่อนที่เด็กไทยจะอยู่ในภาวะตกงานแตะล้านคนในไม่ช้า

ขณะเดียวกันกระทรวงศึกษาธิการควรพิจารณาเพิ่มทางเลือกในการส่งเสริมการศึกษาผ่านการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) อย่างจริงจัง ลดความเหลื่อมล้ำด้วยอินเทอร์เน็ตดี ฟรีค่าใช้จ่าย ใช้งานได้จริง เพื่อให้เด็กเข้าถึงความรู้ เป็นผู้ชี้นำการเรียนรู้ของตัวเอง

ทั้งนี้นางสาวอรุณี ระบุว่า 7 ปีที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ทิ้งขว้างเด็กไทยไร้อนาคต เด็กจบปริญญาตรี หรือแม้แต่สายวิชาชีพตกงานมากถึง 8.7 แสนคน รวมถึงยังมีเด็กที่เสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษาอีกจำนวนมาก

ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ audioguide-videoguide.com

Releated